แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับให้ทุกบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident Fund สำหรับพนักงานก็ตาม แต่บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานให้แก่พนักงานมากยิ่งขึ้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือในการจูงใจให้พนักงานตั้งใจทำงานเป็นอย่างดี ทำให้พนักงานรักและภักดีกับองค์กร ทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้พนักงานทำงานในระยะยาว กล่าวได้ว่า การมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร อีกทั้งเงินสมทบของนายจ้างสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้เต็มจำนวนอีกด้วย
ในขณะที่ฝั่งของพนักงานหรือลูกจ้างเองก็ได้รับประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งเรื่องการออมเงินไว้ใช้ในอนาคตพร้อมผลตอบแทนในระยะยาว ประโยชน์เรื่องการยกเว้นภาษี และสิทธิตามเงื่อนไขที่จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบของนายจ้างเพิ่มเติม นอกจากนี้ เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถใช้เป็นหลักประกันให้แก่ชีวิตเมื่อออกจากงานหรือเกษียณอายุ รวมถึงเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวในกรณีที่เราเสียชีวิตลงด้วยดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงถือเป็นกองทุนที่สำคัญที่ผู้บริหารองค์กรควรให้ความใส่ใจอย่างมาก
เคล็ดลับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ผู้บริหารควรรู้ มีดังนี้
- เลือกกองทุนที่มีหลายนโยบาย ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ บริษัทหรือนายจ้างไม่มีนโยบายในการลงทุนให้เลือก หรือหากมีก็มีแบบจำกัดไม่ตรงตามความต้องการ ในปัจจุบัน พนักงานมีความรู้ในการลงทุนมากขึ้น จึงมีความต้องการในการเลือกแผนการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด ผู้บริหารจึงควรใส่ใจกับพนักงานที่ต้องการเลือกวางแผนลงทุนตามผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวเรา และสามารถสับเปลี่ยนนโยบายได้ตามความต้องการ
- ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของพนักงาน พนักงานที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ไม่มีความรู้หรือไม่มั่นใจว่าควรจะเลือกแผนลงทุนอย่างไร มักเลือกแผนที่มีความเสี่ยงต่ำไว้ก่อน เช่น เลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ก็ต่ำไปด้วย ส่งผลให้เงินออมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องการใช้ในวัยเกษียณอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากคนในปัจจุบันมีอายุมากขึ้น ผู้บริหารจึงมีหน้าที่ต้องให้ความรู้แก่พนักงานถึงรายละเอียด สิทธิประโยชน์ ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกนโยบายกองทุนที่ให้ผลดีแก่ตัวเองมากที่สุด ควรมีการให้บริการในด้านข้อมูลความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนาให้แก่สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ทราบถึงข่าวสาร เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของกองทุน และต้องเป็นบริษัทจัดการกองทุนที่สมาชิกสามารถโทรสอบถามข้อสงสัยได้ตลอดเวลา
- จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียดของพนักงานเพื่อนำมาวิเคราะห์ หนึ่งในเคล็ดลับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานที่ได้ผลดีที่สุด คือ ผู้บริหารต้องจัดทำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน เช่น อายุเฉลี่ย อายุงานเฉลี่ย ระดับความรู้เรื่องการลงทุน การยอมรับความเสี่ยง จากนั้นจึงนำส่งให้แก่บริษัทจัดการกองทุนเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ว่ารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพนักงานในองค์กรของเราควรเป็นรูปแบบใด ซึ่งหากเลือกลงทุนในนโยบายที่เหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อทั้งตัวพนักงานและบริษัทเอง
- กำหนดเงื่อนไขการรับเงินสมทบให้เหมาะสม แม้ว่าเงื่อนไขที่พนักงานจะมีสิทธิ์ได้รับเงินสมทบส่วนของนายจ้างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่ได้บังคับด้วยข้อกฎหมาย บริษัทหรือนายจ้างสามารถกำหนดได้เอง แต่เงื่อนเวลาที่จะได้รับเงินสมทบ 100% ก็ไม่ควรนานเกินไป ผู้บริหารที่มีหน้าที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้ากำหนดไว้นานเกินไป เช่น ต้องทำงานถึง 10 ปี จึงจะเข้าข่ายได้รับเงินสมทบ 100% หากลาออกก็จะทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดลง ดังนั้น แทนที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นแรงจูงใจให้แก่พนักงาน กลับกลายเป็นว่าอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พนักงานหมดความสนใจ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร ดังนั้น ผู้บริหารจึงควรให้ความใส่ใจกับการบริหารจัดการกองทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งตัวพนักงานและองค์กรโดยรวม
ที่มา : Shopsmart Finance
ผลิตภัณฑ์ที่คุณอาจสนใจ
ประกันตลอดชีพ | iProtectS

ประกันออมทรัพย์ | iGen

ประกันคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุ | iFine

[…] กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident Fund ที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต […]